วัดประจำรัชกาล Print
Written by Administrator   
Sunday, 13 September 2009 11:35

ประเทศไทยนับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติมาช้านาน โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนในการประกอบพิธีการทาง ศาสนา รวมถึงเป็นที่จำวัดของพระภิกษุ สามเณร การสร้างวัด ถือเป็นศรัทธาของพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะการสร้างวัดของพระมหากษัตริย์เพื่อแสดงว่าทรงเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งธรรม...โดยมักจะแสดงออกเป็น 3 ลักษณะ คือ อุปถัมภ์ศาสนธรรม เช่นสังคายนาพระไตรปิฎก อุปถัมภ์ศาสนบุคคลโดยการให้การบำรุงพระภิกษุสามเณร และอุปถัมภ์ศาสนวัตถุโดยการสร้างปฎิสังขรณ์วัด สำหรับพระมหากษัตรยิ์แห่งราชวงศ์จักรีไทย ได้มีการสร้างวัดประจำพระองค์ขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา

 
พระพุทธเทวปฏิมากร
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร(วัดโพธิ์) วัดประจำรัชกาลที่1

     พระพุทธเทวปฎิมากร เป็นพระพุทธรูปโบราณมีพระลักษณะอันงดงามยากที่จะหาพระพุทธรูปอื่นมาเปรียบได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาวัดโพธารามซึ่งเป็นอารามเก่าให้เป็นพระอารามใหญ่โตสำหรับพระนคร ทรงขนานนามว่า วัดพระเชตุพนฯ ครั้งนั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้เชิญมาปฎิสังขรณ์สำเร็จแล้ว ทรงบรรจุพระบรมธาตุแล้วเชิญประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ถวายพระนามว่า “พระพุทธเทวปฎิมากร” ครั้นเมื่อสิ้นรัชกาลแล้วได้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาบรรจุไว้ที่ผ้าทิพย์แท่นชุกชีพระพุทธเทวปฎิมากร

 
 
 
พระพุทธนฤมิตร
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร(วัดแจ้ง) วัดประจำรัชกาลที่ 2

     เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฎิสังขรณ์วัดอรุณราชวรารามอันเป็นวัดประจำรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่2 พระราชบิดาสิ่งหนึ่งที่โปรดฯ ให้สร้างเพิ่มเติมคือบุษบกยอดปรางค์ที่ผนังมุขพระอุโบสถด้านหน้าสำหรับจะประดิษฐานพระพุทธรูปที่จำลองจากพระพุทธรูปฉลองพระรัชกาลที่ 2 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างต่อจนเสร็จและพระราชทานนามพระพุทธรูปที่จำลองจากพระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ 2 นี้ว่า พระพทุธนฤมิตร

 
 
พระพุทธอนันตคุณอดุลยบพิตร
วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร วัดประจำรัชกาลที่3

     พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โปรดให้สร้างพระพุทธอนันตคุณอดุลยบพิตร ขึ้นเพื่อประดิษฐานเป็นประธานในพระอุโบสถวัดราชโอรสาราม ซึ่งเป็นวัดเก่าที่โปรดให้สถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชทานนามว่า “วัดราชโอรส” ที่ฐานของพระพุทธรูป ประดิษฐานพระราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่3 และศิลา จารึกดวงพระชะตา

 
พระพุทธสิหังคปฎิมากร
วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร วัดประจำรัชกาลที่4

    ตามโบราณราชประเพณีถือกันว่า เมืองที่เป็นราชธานีนั้นจะต้องมีวัดสำคัญ 3 วัดในเขตเมืองเป็นพระอารามหลวงแห่งพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ได้แก่ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และ วัดราชประดิษฐ์ แต่จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 ปรากฏว่ากรุงเทพมหานครนั้นยังมีเพียงวัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงโปรดให้สร้างวัดราชประดิษฐ์ขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว ก็ได้มีการอัญเชิญพระบรมอัฐิมาประดิษฐานยังฐานของพระพุทธสิหังคปฎิมากรนี้ด้วย

 
 
พระพทุธชินราช (จำลอง)
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร วัดประจำรัชกาลที่5

   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 ตั้งพระราชหฤทัยสร้างขึ้นให้เป็นวัดใหญ่ที่ประณีตงดงามในเชิงช่าง ซึ่งก็ทรงทำได้งามสมดังพระราชหฤทัย เมื่อแล้วเสร็จมีพระราชประสงค์จะได้พระพุทธรูปที่งดงามสมที่จะประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ จึงโปรดฯให้หล่อพระพุทธชินราชจำลอง เมื่อสำเร็จแล้วจึงอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ภายใต้รัตนบัลลังก์พระพุทธชินราชจำลอง เป็นที่ประดิษฐานพระสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามที่ได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ไว้

 
พระพุทธชินสีห์
วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ 6

     พระพุทธชินสีห์ เป็นพระพุทธรูปสำคัญพระองค์เหนึ่งของหัวเมืองไทยเหนือ สร้างขึ้นคราวเดียวกันกับพระพุทธชินราช และพระศาสดา ได้ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารด้านเหนือของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลกมาแต่ต้น ต่อมาพระวิหารชำรุดทรุดโทรมลง ขาดการปฎิสังขรณ์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์  จึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในรัชสมัยจองพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้วจึงได้อัญเชิญพระสรีรางคารไปบรรจุไว้ที่พุทธบัลลังก์ พระพุทธชินสีห์ พระประธานในพระอุโบสถ

 
 
พระพุทธอังคีรส
วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร วัดประจำรัชกาลที่7

    ประวัติการสร้างบันทึกไว้ต่างกันเป็น 2 ความ ความหนึ่ง สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้หล่อขึ้นเมื่อสถาปนาวัดราชบพิธ ส่วนอีกความหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์นิพนธ์ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้หล่อขึ้นเพื่อนำไปประดิษฐานยังพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 7 ทรงปฎิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว ได้อัญเชิญพระสรีรางคารไปบรรจุใต้ฐานพุทธบัลลังก์

 
 
พระพุทธตรีโลกเชษฐ์
วัดสุทัศน์เทพวราราม ราชวรมหาวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ 8

    เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้น มาเสร็จบริบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชทานนามว่า “วัดสุทัศนเทพวราราม” พระประธานในพระอุโบสถนามว่า “ พระพุทธตรีโลกเชษฐ์” ภายในวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นที่ประดิษฐานพระบรามราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์ พระศรีศากยมุนีเมื่อ และมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่8 ในวันที่ 9 มิถุนายน ของทุกปี

 
สมเด็จพระพุทธญาณนเรศวร์
วัดญาณสังวราราม วรมหาวิหาร วัดประจำรัชกาลที่9

    สมเด็จพระสังฆราช ได้สร้างวัดญาณสังวรารามฯขึ้น ที่จังหวัดชลบุรี ถวายให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และได้พระราชทานนามวัดตาม พระนามเดิมของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระญาณสังวรพระประธานในพระอุโบสถพระนามว่า สมเด็จพระพทุธญาณนเรศวร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมหากรุณายกให้เป็นพระอารามหลวง ชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร และทรงมีพระราชศรัทธารับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงถือเสมือนว่าวัดนี้เป็นวัดประจำรัชกาลที่9

Last Updated on Tuesday, 22 September 2009 23:19